หมอลำ

หมอลำ เป็นรูปแบบของเพลงลาวโบราณในประเทศลาวและภาคอีสานของประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายอย่าง ตามลักษณะทำนองของการลำ เช่น ลำเต้ย ลำกลอนลำเรื่อง ลำเรื่องต่อกลอน ลำเพลิน ลำซิ่ง รวมทั้ง ลำตัดในภาคกลางก็จัดได้ว่าเป็นหมอลำประเภทหนึ่ง

 

คำว่า “หมอลำ” มาจากคำ 2 คำมารวมกัน ได้แก่”หมอ” หมายถึง คือผู้ชำนาญในกิจการต่างๆ เช่น หมอแคน คือผู้ชำนาญในการเป่าแคน หมอมอหรือหมอโหรคือผู้ชำนาญในการทำนายโชคชะตา หมอเอ็น คือผู้ชำนาญในการบีบนวดเส้นเอ็นตามร่างกาย”ลำ” หมายถึง การบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยทำนองอันไพเราะ ดังนั้น หมอลำจึงหมายถึง ผู้ที่มีความชำนาญในการบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยทำนองเพลง ดังนั้น “หมอลำ” จึงหมายถึง ผู้ที่ชำนาญในการร้องเพลงด้วยภาษาถิ่นอีสานประกอบเสียงดนตรีพื้นบ้านแคน

ความเจริญก้าวหน้าของหมอลำก็คงเหมือนกับความเจริญก้าวหน้าของสิ่งอื่นๆ เริ่มแรก คงเกิดจากผู้เฒ่าผู้แก่เล่านิทาน นิทานที่นำมาเล่าเกี่ยวกับจารีตประเพณีและศีลธรรม โดยเรียก ลูกหลานให้มาชุมนุมกัน ทีแรกนั่งเล่า เมื่อลูกหลานมาฟังกันมากจะนั่งเล่าไม่เหมาะ ต้องยืนขึ้นเล่าเรื่องที่นำมาเล่าต้องเป็นเรื่องที่มีในวรรณคดี ผู้เล่าเพียงแต่เล่า ไม่ออกท่าออกทางก็ไม่สนุก ผู้เล่าจึงจำเป็นต้องยกไม้ยกมือแสดงท่าทางเป็น พระเอก นางเอก เป็นนักรบ

เนื่องจากเล่าอย่างเดียวไม่สนุก จึงจำเป็นต้องใช้สำเนียงสั้นยาว ใช้เสียงสูงต่ำ ประกอบ และหาเครื่องดนตรีประกอบเช่น ซุง ซอ ปี่ แคน เพื่อให้เกิดความสนุกหากมีผู้ชายคนเดียวมาเล่าเรื่องก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เลยต้องมีผู้หญิงมาแสดงประกอบ เมื่อผู้หญิงมาแสดงประกอบจึงเป็นการลำแบบสมบูรณ์ เมื่อมีผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องต่างๆ ก็ตามมา เช่น เรื่องเกี้ยวพาราสี และก็มีตัวตลกตามมา จึงกลายเป็นหมอลำที่สมบูรณ์แบบ