รำวงย้อนยุค

รำวงย้อนยุค หรือรำวงพื้นบ้าน คือ รำโทนในภาคกลาง  ซึ่งชาวจันทบุรี  เรียกกันทั่วไปในอดีตว่า รำวงเขี่ยไต้  เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวบ้าน เมื่อประมาณ ๕๐ – ๖๐ ปีมาแล้ว  เพื่อเป็นการบันเทิง ในขณะนวดข้าว สลับกับการร้องเพลงหงส์ฟาง โดยใช้เครื่องดนตรี เป็นอุปกรณ์ที่หาได้ในขณะนั้น เป็นเครื่องกำหนดจังหวะ เช่น ใช้เคาะไม้  เคาะปี๊ป

ต่อมาใช้เป็นศิลปะในการหาเลี้ยงชีพ คือรับจ้างแสดงตามงานต่าง ๆ หรือมักเล่นกันในช่วงในฤดูแล้ง มักจัดขึ้นในงานวัด เช่น งานวันวิสาขบูชา  งานประจำปี งานบวช

 

เพลงรำวง เป็นเพลงที่ชาวบ้านแต่งขึ้น มีทำนองและภาษาที่ง่ายๆ เนื้อเพลงสั้น และใช้ธรรมชาติรอบรอบตัว มาแต่งเป็นเพลง ดังตัวอย่างเพลงรำวงที่ร้องกันในแถบหมู่บ้านตะปอนใหญ่ ตำบลเกวียนหัก

เดิมรำวงพื้นบ้านจะมีเครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียว คือ กลองทัด ชาวบ้านเกวียนหักเรียกว่ากลองเพล (กลอง – เพน) ใช้ตีกำกับจังหวะ ซึ่งมีอยู่จังหวะเดียว คือ แต็ก ตุง ตุง แต็ก ตุง ตุง ถ้าต้องการให้เพลงที่ร้องเป็นทำนองเร็วขึ้น ก็ตีกลองให้จังหวะกระชั้นขึ้นคนที่ร้องเพลงรำวง เรียกว่า กองเชียร์ เพราะนอกจากร้องเพลงให้นางรำและคนรำได้แสดงท่าทางรำวงกันสนุกสนานแล้ว เมื่อหมดรอบ ก็จะร้องเชื้อเชิญให้หนุ่ม ๆ นักรำทั้งหลายซื้อตั๋วเข้ามาโค้งนางรำ เป็นเช่นนี้จนกว่ารำวงจะเลิก