ฟ้อนสาวไหม

ฟ้อนสาวไหม ปรากฏอยู่สองแบบ คือสาวไหมในการฟ้อนเจิงหรือร่ายรำท่าต่อสู้ด้วยมือเปล่า ซึ่งมีลีลากระบวนท่าที่แน่นอนและการฟ้อนสาวไหมที่เป็นการฟ้อนของผู้หญิงที่แสดงความเคลื่อนไหวในลีลาร่ายรำที่นุ่มนวล มิได้ร้อนแรงเหมือนอย่างที่ปรากฏในเชิงต่อสู้

เป็นการฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นโดย พ่อครูกุย สุภาวสิทธิ์ ชาวบ้านตำบลแม่ก๊ะ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเรียนเชิงมาจากพ่อครูปวน คำมาแดง บ้านร้องวัวแดง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ถ่ายทอดการฟ้อนให้แก่บุตรสาว ในปี พ.ศ. 2495 คือ แม่ครูบัวเรียว(สุภาวสิทธิ์)รัตนมณีภรณ์

การฟ้อนสาวไหมนี้ เป็นท่าหนึ่งของเชิงสาวไหมที่มักเรียกกันในภายหลังว่า “สาวไหมลายเจิง” แม่ครูบัวเรียวได้เล่าว่าเมื่อครั้งเล็ก พ่อครูกุยได้สอนเชิงสาวไหมให้กับหนุ่มๆ ในละแวกบ้าน และได้ปรับเอาท่าสาวไหมในเชิงนั้นมาคิดประดิษฐ์เป็นฟ้อนสำหรับผู้หญิง โดยนำไปผสมผสานกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ปลูกฝ้ายเพื่อนำมาทอผ้า จึงได้นำวิถีชีวิต กระบวนการทอผ้ามาผสมผสานกับเชิงสาวไหมจนกลายเป็น “ฟ้อนสาวไหม” ให้กับลูกสาวคือแม่ครูบัวเรียวนั่นเอง

 

ปัจจุบันนี้ มีผู้เข้าใจผิดคิดว่าการฟ้อนสาวไหมนั้น ‘ประดิษฐ์มาจากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เพื่อนำมาทอเป็นผ้าไหม’ อยู่มากมายรวมไปถึงวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ที่ได้นำการฟ้อนสาวไหมมาปรับปรุงด้วยเช่นกัน อาจจะเป็นเพราะความไม่เข้าใจในภาษาล้านนาอย่างลึกซึ้ง จึงตีความว่าเป็นการฟ้อนที่เลียนแบบการทอผ้าไหม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คำว่า “ไหม” ในภาษาล้านนา หมายถึงเส้นด้าย รวมถึงสิ่งที่มีลักษณะเป็นเส้นเล็กบาง เช่น ฝ้ายไหมมือ ก็คือเส้นด้ายที่ใช้ผูกข้อมือให้ศีลให้พร

 

ฟ้อนสาวไหม เป็น ฟ้องที่แฝงด้วยปรัชญาชีวิต ว่า ชีวิตทุกชีวิตต้องมีอุปสรรค ดั่งการสาวไหมต้องเจอปม เมื่อคลี่ปมไหมให้ดี และถักทอเป็นผืนผ้าได้สวยงามก็ เปรียบดังชีวิตที่ต้องต่อสู้ฝ่าฟันด้วยความเพียรและอดทนผ่านพ้นอุปสรรคปัญหาต่างๆ มาได้