กระต่ายขาเดียว

กระต่ายขาเดียว เป็นการละเล่นไล่จับประเภทหนึ่ง โดยผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็น”กระต่าย” จะยืนบนขาข้างเดียว งอเข่าขาอีกข้างไม่ให้เท้าสัมผัสพื้น แล้วกระโดด+เขย่ง เพื่อไล่จับคนอื่นๆ ให้สลับมาเป็นกระต่ายแทน เล่นได้ตามลานโล่ง หรือสนามหญ้า ช่วยออกกำลังกายขา และฝึกทรงตัวด้วยขาข้างเดียว มักแบ่งเป็น สองทีมจำนวนคนเท่าๆ กัน หรือ อาจจะไม่ต้องมีทีมเลยก็ได้

หากมีจำนวนผู้เล่น 3-5 คน มักไม่แบ่งทีม แต่ถ้า 6 คนขึ้นไป สามารถแบ่งเป็นสองทีมเท่าๆ กัน แล้วทีมที่เป็นกระต่าย จะส่งกระต่ายมาทีละคน แล้วกระโดดเขย่ง ไล่แตะตัว อีกทีม หากกระต่ายเหนื่อย ก็แตะมือคนในทีมเดียวกัน สลับมาเป็นกระต่าย ไล่กวด แทน (คล้ายการ tag team มวยปล้ำ)

เหตุที่เรียกว่า กระต่ายขาเดียว น่าจะมาจาก การเคลื่อนที่ของกระต่าย ที่ใช้ สองขาหลัง ดีดตัว กระโดดเตี้ยๆ เพื่อเคลื่อนไปยังตำแหน่งต่างๆ เมื่อเด็กเล่นไล่จับ แล้วเคลื่อนที่ด้วยการกระโดดเขย่งๆ ด้วยขาข้างเดียว จึงคล้ายกับการกระโดดของกระต่าย

 

มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ชัดเจนตามปริมาณผู้เล่น เช่น สองหรือสามบล็อกพื้นถนน(ซีเมนต์) หรือประมาณ 5×5 เมตร เพื่อให้การกวดไล่จับ ไม่ยากเกินไปนัก ผู้ที่วิ่งหนี ออกนอกบริเวณ ก็เสมือนถูก”กระต่าย”แตะตัวได้ ถือว่าแพ้ และต้องมาเป็น”กระต่าย”แทน

 

ทีมที่เป็นกระต่าย จะอยู่รอนอกพื้นที่ อีกทีมที่มีหน้าที่หลอกล่อ หนีกระต่าย จะลงไปอยู่ในพื้นที่กันทุกคน ทีมกระต่าย ส่งกระต่ายตัวแทนลงมาทีละหนึ่งคน เพื่อไล่แตะทีมหนี ให้หมดทุกคน คนที่โดนแตะ หรือจับได้ ก็ออกไปยืนแพ้ รออยู่นอกพื้นที่ จนกว่าจะครบหมดเกลี้ยง  คนที่เป็นกระต่าย ก็มักจะสลับเปลี่ยน ให้เพื่อนร่วมทีม มาเป็นกระต่ายไล่กวดเด็กที่เหลือ จนกว่าจะหมดแรงกันไป   หากทีมที่เป็นกระต่าย หมดแรง เท้าแตะพื้น ไม่สามารถจับทุกคนของอีกทีมได้หมด ก็ถือว่าแพ้ โดนลงโทษ และเป็นกระต่ายซ้ำ ไล่จับกันต่อไป

การละเล่น “กระต่ายขาเดียว” น่าจะเป็นที่มาของ สำนวน “ยืนกระต่ายขาเดียว” หรือ “ยืนเป็นกระต่ายขาเดียว” ซึ่งหมายถึง การยืนยัน การเถียง การโต้แย้ง ด้วยเหตุผล หรือมุมมองจากตนเองฝ่ายเดียว และมักเป็นการแย้งที่ไม่สมเหตุสมผล รวมถึงมักจะเป็นการโกหก ปิดบังความจริง เพราะการยืนกระต่ายขาเดียว โอนเอน ไม่สมดุล ไม่มั่นคง ล้มได้เสมอ